จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศ โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่รายล้อมไปด้วยเทือกเขาสูง ซึ่งเป็นป่าไม้ทั่วบริเวณ จึงทำให้มีพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อย โดยภาพรวมมีพื้นที่ประมาณ 7 ล้านกว่าไร่ ทิศเหนือติดลาวและพม่า ทิศตะวันออกติดลาวและจังหวัดพะเยา ทิศใต้ติดจังหวัดพะเยาและลำปาง ส่วนทางทิศตะวันตกติดจังหวัดเชียงใหม่และพม่า ระยะทางห่างจากกรุงเทพเกือบ 800 กิโลเมตร สภาพอากาศต่างกันสุดขั้วระหว่างฤดูหนาวและฤดูร้อน เนื่องจากไม่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทางทะเลเลย จังหวัดเชียงรายแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ 124 ตำบล 1,510 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเมืองที่เรียกกันว่า “ไทยยวน” ส่วนที่เหลือจะเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายต่าง ๆ เช่น ไทเขิน, ไทใหญ่, ไทลื้อ เป็นต้น มีภาษาพูดแบบภาษาคำเมืองเป็นของตนเอง ส่วนข้อมูลสำคัญที่เราควรรู้ สรุปได้ดังนี้
เมืองเชียงรายถูกสร้างขึ้นโดยพญาเม็งราย เมื่อเกือบ 700 ปีที่ผ่านมา มีชื่อเรียกในครั้งแรกว่า “เวียงชัยนารายณ์” ตามที่พงศาวดารกล่าวไว้ เชียงรายตกอยู่ใต้การปกครองของพม่ามาระยะหนึ่ง จนถูกปราบสำเร็จโดยสยาม และถูกยกระดับเป็น “เมือง” สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเป็นเมืองศูนย์กลางของการควบคุมฝาง พะเยา และเชียงแสน ซึ่งได้ปกครองเรื่อยมา จนช่วงปี 2520 จึงแยกตัวมาจัดตั้งใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น “จังหวัดเชียงราย” ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดเชียงรายถูกสร้างขึ้นโดยพญาเม็งราย จากการรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทำการปราบข้าศึกเรื่อยมาโดยใช้ช้างศึกคู่พระบารมี ซึ่งวันหนึ่งช้างมงคลได้หลุดหายไป พระองค์จึงติดตามไปจนถึงริมแม่น้ำกกนัทธี บริเวณดอยจอมทอง ซึ่งเป็นพื้นที่มียุทธศาสตร์ที่ดี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มมีภูเขาโอบล้อม เหมาะกับการสร้างเมืองเป็นอย่างมาก พญาเม็งรายจึงได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นในปี พ.ศ.1805 และนำช้างมาเป็นตราสัญลักษณ์บนพื้นสีม่วง ซึ่งเป็นสีของวันเสาร์หรือวันประสูติของพญาเม็งราย
โดยช้างเผือกนี้อยู่ภายใต้ก้อนเมฆสีขาวลอย เสมือนการแผ่ความสุขและความรุ่งเรืองสู่พสกนิกร แต่แล้วเมื่อพญาเม็งรายเสด็จไปครองเมืองเชียงใหม่ ทำให้อาณาจักรล้านนาถูกพม่าเข้ายึดครองมาอย่างยาวนาน จนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยึดกลับคืนมาขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาได้ และขับไล่พม่าไปจนหมดสิ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในสมัยรัชกาลที่ 5 เชียงรายถูกปกครองภายใต้ระบบเทศาภิบาล จนถึงปี 2475 มีการปฏิวัติการปกครองโดยคณะราษฎร์ จึงเปลี่ยน “เมืองเชียงราย” เป็น “จังหวัดเชียงราย” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อักษรไทย : เชียงราย อักษรย่อว่า ชร
อักษรโรมัน : Chiang Rai อักษรย่อว่า CRI
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด สามารถแบ่งออกได้ทั้งตราประจำจังหวัด ตลอดจนดอกไม้ และสัตว์น้ำต่างๆ ดังนี้
4.1 ตราประจำจังหวัดจังหวัดเชียงรายและความเป็นมา
ตราประจำจังหวัด : รูปช้างสีขาวใต้เมฆ
ความเป็นมา : พ่อขุนเม็งราย ที่ได้ก่อตั้งเมืองเชียงรายขึ้นมาบริเวณริมน้ำกก จนเกิดเป็นเมืองเชียงรายในปัจจุบัน ที่อุดมไปด้วยทรัพยากร ซึ่งก่อนที่จะได้มาซึ่งพื้นที่อันบริบูรณ์แห่งนี้ พระองค์เคยใช้ช้างออกศึกออกรบ และชนะทุกครั้งในการปราบศัตรู จึงทำให้ช้างเผือกของพระองค์ เสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนแห่งการได้มาซึ่งเมืองเชียงราย ดังนั้นตรารูปช้างสีขาวใต้เมฆจึงเป็นนิมิต ที่หมายถึงความสงบสุขภายใต้เมฆสีขาว และแสดงความรุ่งเรืองในอดีต ที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
4.2 ธงประจำจังหวัดเชียงราย
ลักษณะของ จะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ไม่มีการกำหนดขนาด ความยาวและความกว้างของธง พื้นรอบนอกเป็นสีฟ้า ตรงกลางเป็นพื้นสีม่วง ตรงกลางมีรูปช้างสีขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด โดยภายใต้เท้าของช้างมีแถบสีแดงขอบสีขาว ระบุข้อความชื่อจังหวัดเชียงรายภายในแถบนั้น
4.3 ดอกไม้ ต้นไม้ และสัตว์น้ำประจำจังหวัดเชียงราย
• ดอกพวงแสด หรือชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pyrostegia Venusta (ker) Miers เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงราย ลักษณะเป็นไม้เลื้อย จัดอยู่ในวงศ์ Bignonia Ceae พันธุ์ไม้ดอก นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่น ๆ อีก ได้แก่ Fire – Cracder Vine, Flane Flower, Orange trumpet มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ
• กาสะลองคำ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Radermachera ignea (Kurz) Steenis เป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้พระราชทานในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ของรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 มีชื่ออื่น ๆ เช่น สำเภาหลามต้น, สะเภา, ปีบทอง เป็นต้น ชื่อวงค์ คือ Dignoniaceae
• ปลาบึก หรือชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pangasianodon gigas เป็นปลาประจำจังหวัดเชียงราย ที่มีขนาดใหญ่และหายาก พบในแม่น้ำโขงซึ่งติดกับจังหวัดเชียงราย จึงเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญและอยู่คู่ชาวเชียงรายมาอย่างยาวนาน จนมีประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึกทุกปี
4.4 สัญลักษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจในจังหวัดเชียงราย
• นกอีโก้ง อีลุ้ม อีล้ำ ถือว่านกประจำจังหวัดเชียงราย เพราะพบมากบริเวณทะเลสาบเชียงแสน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่สัตว์ป่าจำนวนมากอาศัยอยู่ นอกจากนกน้ำประจำถิ่นเหล่านี้ ยังมีนกอพยพอื่น ๆ ที่จะมาอาศัยอยู่รวมกันในช่วงฤดูหนาว เพราะเป็นบริเวณลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ที่เหมาะกับการอยู่อาศัยของนกน้ำชนิดต่าง ๆ
• ลิ้นจี่ เป็นผลไม้ประจำจังหวัดเชียงราย เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดของประเทศ มีการปลูกในทุกอำเภอ ด้วยสภาพอากาศที่หนาวค่อนข้างนาน และมีพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกผลไม้ จึงสามารถปลูกได้ปริมาณมากที่สุด และเป็นลิ้นจี่ที่มีคุณภาพดีที่สุดอีกด้วย
“เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง”
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงรายก็มีดังนี้
1.พระธาตุดอยตุง
เป็นพระธาตุที่มีการประดับตุง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ของพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พสกนิกรชาวเชียงรายพร้อมใจกันจัดสร้างตุงทองคำเพื่อน้อมเกล้าน้อมถวายพระองค์ฯ จำนวน ๒ ตุง และเนื่องในโอกาสสถาปนาจังหวัดเชียงรายครบรอบ ๗๓๗ ปี เพื่อร่วมเฉลิมฉลองจึงสร้างตุงหลวงอีก ๑ ตุง โดยการออกแบบจากศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศ ๓ คน คือ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, นายถวัลย์ ดัชนี และนายกนก วิศวกุล ซึ่งนอกจากตุง ยังมีศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมรอบ ๆ พระธาตุ ที่สวยงามและแฝงไว้ด้วยแง่คิดทางธรรมไว้มากมาย
2.วัดร่องขุ่น
สถาปัตยกรรมที่วิจิตรบรรจงแบบหาที่เปรียบไม่ได้ โดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างด้วยแรงบันดาลใจจากชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดเป็นวัดที่เหมือนจำแลงเมืองสวรรค์ลงมาสู่โลกมนุษย์ด้วยโทนสีขาวสะอาดตา เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน
3.ดอยแม่สะลอง
นักท่องเที่ยวสามารถชมความงามของดอกซากุระเมืองไทยหรือพญาเสือโคร่ง ได้ที่ดอยแม่สะลองแห่งนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกชาคุณภาพดีของเมืองไทย โดยมีการปลูกชาแบบขั้นบันไดที่สวยงาม ถ้าไม่อยากพลาดต้องมาช่วงมกราคมถึงมีนาคมของปี
นอกจากข้อมูลที่สำคัญ ดังที่กล่าวมาในข้างต้น จังหวัดเชียงรายยังมีศิลปะวัฒนธรรมประเพณีที่น่าค้นหาหลายอย่าง เช่น งานบุญปอยหลวง, ประเพณีแห่พระแวดเวียง, พิธีบวงสรวงพญาเม็งราย, ประเพณีสงกรานต์ปี๋ใหม่, การโล้ชิงช้าของชาวอีก้อ, ประเพณีขึ้นพระธาตุดอยตุง เป็นต้น แต่ถ้ามาหน้าหนาวสามารถชมความงามของดอกซากุระที่ดอยแม่สลองได้ การเดินทางมาที่จังหวัดเชียงรายง่ายมากๆ เพราะมีสถานีขนส่งรถประจำทางถึง 2 แห่ง และมีท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง ที่มีสายการบินอย่างนกแอร์, ไทยแอร์เอเชีย, โอเรียนท์ไทย และการบินไทย เชียงรายจึงเป็นจังหวัดที่สวยงาม และน่าท่องเที่ยวอีกจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook