
ชื่อจังหวัด : เชียงใหม่
ชื่อเดิมของจังหวัด : นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่, รัตนติงสาอภินวบุรีเชียงใหม่
อักษรไทย : เชียงใหม่
อักษรโรมัน : Chiang Mai
อักษรย่อ : ชม.หรือ CMI
เชียงใหม่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ถือว่าเป็นอาณาจักรล้านนาโบราณที่ถูกรวบรวมให้เป็นเมืองเมื่อปี พ.ศ. 1839 หลังจากพระสหาย 3 กษัตริย์ ได้แก่ พญามังราย พญางำเมือง และพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) เพื่อให้มีชัยชนะเหนืออาณาจักรพุกามของพม่า ทั้ง 3 พระองค์จึงร่วมกันดื่มน้ำสาบานเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวในการปกครอง และเพื่อต่อต้านการรุกรานจากมองโกลด้วย ซึ่งมองโกลถือว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มากในขณะนั้น
จนกระทั่งต่อมาได้มีชื่อเรียกเมืองเชียงใหม่ (เจียงใหม่) ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ตามที่บันทึกไว้ในพงศาวดารไทใหญ่ โดยหมายถึง เมืองที่ล้อมรอบด้วยกำแพง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและดอยสุเทพ โดยมีชาวมอญและชาวลัวะเป็นเป็นชาวพื้นถิ่น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีพิธีกรรมของชาวมอญที่เกี่ยวข้องกับการไหว้ผีบรรพบุรุษอย่างพิธีไหว้ผีปู่ ย่าแสะ และพิธีฟ้อนผีมดผีเม็งของชาวลัวะจนถึงปัจจุบัน
ราชวงศ์มังรายปกครองมานานกว่า 261 ปี จนพระเจ้าบุเรงนองชนะศึก และเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่กว่า 200 ปี กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สามารถยึดคืนมาได้สำเร็จ และขับไล่พม่าไปจนหมดสิ้น จากนั้นจึงสถาปนาเมืองขึ้นใหม่ในฐานะประเทศราชว่า “รัตนติงสาอภินวบุรีเชียงใหม่” ปกครองโดยพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ จนถึงสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ก็ได้สถาปนาเป็น “มณฑลพายัพ” ที่สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการปกครองใหม่ จนถึงสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เปลี่ยนมณฑลเป็น “จังหวัด” และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 700 ปีเลยทีเดียว
ตราประจำจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตราสัญลักษณ์ “รูปช้างเผือกในเรือนแก้ว” ที่มีความหมายแฝงนัย 2 ประการ คือ ความจงรักภักดีของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ โดยการนำช้างเผือกเข้าน้อมเกล้าฯ ถวาย จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แรก ส่วนเรือนแก้ว แสดงถึง สัญลักษณ์ทางศาสนาพุทธที่มีแสดงถึงความรุ่งเรืองอย่างสูงสุด ขณะที่บางความหมายอาจเรียกว่า “ใบเสมา”
ความเป็นมาของตรา
ความเป็นมาของตราเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมัยที่ พระญาธัมมลังกา เจ้าหลวงองค์ที่ 2 ที่ครองนครเชียงใหม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่แทนพระเชษฐา ซึ่งในปี พ.ศ. 2359 พระองค์ได้เดินทางมารับตำแหน่งที่พระนครสยาม โดยคุมกองเรือมาทั้งหมด 50 ลำ พร้อมด้วยช้าง “เสตัคคนาเคนท์” ซึ่งเป็นช้างเผือกที่มีความงดงามมาก โดยนำเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณและน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทพระพุทธเลิศหล้าฯ รัชกาลที่ 2 จนได้รับการขนานนามว่า “พระเจ้าช้างเผือก”
ธงที่มีพื้นเป็นสีฟ้าเข้ม ลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ไม่มีการกำหนดขนาด ความยาวและความกว้างของธง มีตรารูปช้างเผือกภายในซุ้มเรือนแก้วอยู่บริเวณกลางธง ภายใต้สัญลักษณ์มีแถบชื่อจังหวัดเชียงใหม่ปรากฏอยู่ ที่มาของธงมาจากการนำสีประจำจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นฐานของธง แล้วนำตราสัญลักษณ์จังหวัดมาวางตรงกลาง จากนั้นจึงระบุชื่อจังหวัดไว้ด้านล่าง ซึ่งถือว่าเป็นการเอาสัญลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่มารวมไว้ในธงผืนเดียว
ต้นไม้ : ต้นทองกวาว เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นมงคลที่พระราชทานแก่จังหวัดเชียงใหม่ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในรัชกาลที่ 9 มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Butea monosperma (Lam.) Taub.เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า Bastard Teak หรือ Flame of the forest จัดอยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE – PAPILIONOIDEAE โดยเป็นพันธุ์ไม้ผลัดใบที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ความสูงประมาณ 10-15 เมตร มีชื่อที่เรียกในแต่ละท้องถิ่น เช่น ก๋าว กวาว จ้า จาน ทองธรรมชาติทองพรมชาติ ทองต้น และจอมทอง เป็นต้น
ดอกไม้ : ทองกวาว เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งออกดอกเป็นช่อสีเหลืองถึงแสด กลีบดอกประมาณ 5 กลีบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Butea monosperma (Lam.) Taub.ลักษณะเป็นไม้เลื้อย จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (LEGUMINOSAE) มีชื่ออื่น ๆ อีก ได้แก่ Flame of the forest, Bengal kino, Bastard teakKino tree มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชีย เช่น อินเดีย, ศรีลังกา, ปากีสถาน, ไทย เป็นต้น มักออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปี
สัตว์น้ำ : ปลากาหรือปลาเพี้ย (Black Shark) เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Morulius chrysophekadion มีถิ่นฐานในประเทศไทย เป็นปลาที่มีเกล็ดใหญ่ ลำตัวเรียวยาวมีสีน้ำเงินดำหรือม่วงดำ หัวเรียวแหลม ไม่มีฟัน ชอบอาศัยตามพันธุ์ไม้น้ำที่มีระดับน้ำตื้น โดยเป็นปลาที่พบมากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
คำขวัญประจำจังหวัดเชียงใหม่คือ “ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์”
ในปีที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นจังหวัดที่สร้างปรากฏการณ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนจึงก่อให้เกิดรายได้เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งโดยพื้นฐานก็มีชื่อเสียงเรื่องการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทั้งด้านลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประเพณี และศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ ล้วนดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวชื่นชอบ หลงใหลและอยากจะมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ก็มีดังนี้
1.วัดพระธาตุดอยสุเทพ
มาเที่ยวเชียงใหม่ทั้งที ไม่มาวัดพระธาตุดอยสุเทพถือว่ามาไม่ถึงเลยก็ว่าได้ โดยนักท่องเที่ยวมักนิยมมาไหว้สักการะวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงใหม่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ เนื่องจากมีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย ซึ่งการได้มานมัสการสักครั้งก็ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง ที่สำคัญยังเป็นวัดที่อยู่ในตัวเมืองที่มีรถรางบริการขึ้นดอยและเปิดให้เข้าชมทุกวัน
2.ตลาดนัดท่าแพ
เป็นตลาดนัดสุดชิคแห่งเมืองเชียงใหม่ โดยเป็นถนนคนเดินที่ตั้งอยู่บริเวณประตูท่าแพ ซึ่งมักจะมีการจัดร้านอย่างเป็นระเบียบ น่าเดินสุด ๆ อีกทั้งเอกลักษณ์ของสินค้าก็เป็นของพื้นเมืองหรือของ Hand Made สุดเก๋ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่ง Street food ที่ต้องมาชิมอาหารพื้นถิ่นภาคเหนือ และอาหารแปลกใหม่หลากหลายสไตล์
3.ม่อนแจ่ม
ช่วงหน้าหนาวเป็นช่วงฤดูกาลยอดฮิตของเชียงใหม่ที่นักท่องเที่ยวต่างก็อยากจะมาสัมผัสอากาศหนาวมากมาย ซึ่งม่อนแจ่มตั้งอยู่บนดอยสูง มีทะเลหมอกปกคลุมสุดลูกหูลูกตา อากาศเย็นสบายตลอดปี ด้วยธรรมชาติอันเขียวขจี ประกอบกับอากาศที่เป็นใจ ม่อนแจ่มจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตอีกแห่งหนึ่งที่น่ามาสัมผัสอย่างยิ่ง
4.สวนสัตว์เชียงใหม่
ถ้าอยากพาเด็ก ๆ มาชมแพนด้า ต้องมาที่นี่ “สวนสัตว์เชียงใหม่” ซึ่งเป็นสวนสัตว์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างกว่า 500 ไร่ สัตว์ที่นี่ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์เมืองหนาว หรือสัตว์ปีก จึงมีจำนวนมากกว่า 7,000 ตัว เราจึงสามารถชมสัตว์ได้หลากหลายชนิด โดยที่ไม่เบื่อเลย แถมยังอยู่ในเขตตัวเมืองอีกด้วย
จังหวัดเชียงใหม่มีการก่อตั้งมานานกว่า 700 ปี โดยเป็นแหล่งของอารายธรรมล้านนาโบราณที่มีการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีมาอย่างยาวนาน ในส่วนประเพณีที่มีความสำคัญ และยังคงอยู่ในปัจจุบันก็มีดังนี้
1.ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีลอยโคม
ถือเป็นประเพณีที่มักจะจัดขึ้นทุกปีในช่วงวันลอยกระทง โดยมีโคมลอยแบบต่าง ๆ เป็นเสน่ห์และสีสันอันงดงามในยามค่ำคืน ทั้งยังเป็นประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังมีการประกวดนางนพมาศ และประกวดกระทงอีกด้วย
2.ประเพณีปีใหม่เมือง หรือปีใหม่ของคนเมือง
ประเพณีนี้ก็จะจัดขึ้นในวันสงกรานต์ตามปกติ แต่ที่นี่จะจัดอย่างยิ่งใหญ่มากจึงสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดเชียงใหม่ไปทั่วประเทศ เพราะจะมีขบวนแห่สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองชาวเชียงใหม่ และประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่นั่นเอง
3.ประเพณีเข้าอินทขิล
ประเพณีเข้าอินทขิลจัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาเสาหลักเมือง โดยการนำขันดอกใส่ดอกไม้ธูปเทียนมาถวาย ซึ่งจะทำกันในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปีที่วัดเจดีย์หลวง โดยถือเป็นพิธีเก่าแก่ที่ทำมาตั้งแต่โบราณ
4.ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์
เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นที่ อ.จอมทอง ตามตำนานแต่โบราณสืบทอดมากว่า 200 ปี ถือเป็นประเพณีที่นิยมมากในเขตภาคเหนือ ซึ่งเป็นต้นแบบของชาวล้านนาในการแห่ไม้ค้ำสะหลี โดยจะมีขบวนรถแห่ทุกปีในช่วงเดือนเมษายน
นอกจากประเพณีของจังหวัดที่น่าสนใจแล้ว ยังมีเทศกาลที่น่าสนใจของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย ซึ่งก็มีดังนี้
1.มหกรรมงานไม้ดอกไม้ประดับ
เป็นงานมหกรรมที่มีการจัดขบวนรถและนางงามบุปผาชาตินั่งอยู่บนรถ แล้วแห่บริเวณสวนสาธารณะบวกหาด โดยจัดขึ้นทุกปีในเดือนกุมภาพันธ์ (อาทิตย์แรกของเดือน)
2.เทศกาลร่มบ่อสร้าง
เป็นประเพณีพื้นบ้านของ อ.สันกำแพง ที่มีการผลิตร่มแบบ Hand made โดยจะจัดขึ้นทุกปีในเดือนมกราคมที่ศูนย์หัตถกรรมทำร่มบ่อสร้าง พร้อมกันนี้ ยังมีการจำหน่ายร่มทำมือและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกด้วย
3.งานไม้แกะสลักบ้านถวาย
ถือเป็นของ Hand made ขึ้นชื่ออีกอย่างที่ไม่ควรพลาด นั่นคือ งานแกะสลักไม้และหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านถวาย อำเภอหางดง โดยจัดขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี
ในส่วนพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดเชียงใหม่ ก็มีดังนี้
1.พระพุทธสิหิงค์
เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ที่ชาวเชียงใหม่เคารพศรัทธาอย่างยิ่ง โดยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงค์ ชื่อเดิมคือ วัดลีเชียงพระ ถือเป็นศิลปะล้านนาอย่างแท้จริง หากใครมาเชียงใหม่ต้องมากราบไหว้ขอพรสักครั้ง เพราะเป็นพระที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่เกือบ 2,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยกษัตริย์ 3 พระองค์ และพระอรหันต์ 20 รูปทำการสร้างขึ้น พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานภายในวิหารที่มีจิตรกรรมฝาผนังอันสวยงาม เรียกว่า “วิหารลายคำ” โดยทุกปีจะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาแห่ขบวนให้ชาวเชียงใหม่ได้สรงน้ำ เพื่อเป็นสิริมงคลในช่วงวันสงกรานต์อีกด้วย
2.พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว
เป็นพระที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่น สถานที่ที่เป็นแหล่งรวบรวมศิลปะล้านนาแบบวิจิตรบรรจงเอาไว้ อย่างเช่น เจดีย์ช้างล้อม, ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น, พระแก้วขาว และวิหารหลวง เป็นต้น และสาเหตุที่มีสถานที่สำคัญหลายแห่งภายในวัด เนื่องจากเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของเชียงใหม่ ซึ่งผู้คนนิยมมาขอพรองค์พระกันค่อนข้างมาก บวกกับความศักดิ์สิทธิ์และบรรยากาศที่เงียบสงบของวัด จึงยิ่งทำให้ผู้ที่ได้เข้ามารู้สึกเกิดความเลื่อมใสศรัทธาได้อย่างไม่ยากนั่นเอง จังหวัดเชียงใหม่นอกจากจะมีความงดงามตามธรรมชาติที่น่าท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นจังหวัดที่มีทั้งวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงเทศกาลที่น่าสนใจต่างๆ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมากมาย นอกจากนี้ ยังถือเป็นเมืองเก่าที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว ดังนั้น หากคุณมีโอกาสได้ขึ้นมาทางภาคเหนือก็อย่าลืมแวะมาเที่ยวชมกันสักครั้ง
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook